top of page

ฮอร์โมน

ระบบฮอร์โมนหรือระบบต่อไร้ท่อ (Endocrine system) ทำงานประสานระหว่างระบบประสาทในสมอง (Pituitary system) เชื่อมโยงกับอวัยวะในร่างกาย ระบบฮอร์โมนนั้นมีหลายส่วน ในที่นี้จะกล่าวถึงฮอร์โมนเพศ เนื่องจากฮอร์โมนเพศมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงสัมพันธ์กับช่วงอายุอย่างมาก โดยเราจะพบว่าเมื่อเราเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ ฮอร์โมนเพศของเราจะสูงขึ้นอย่างมาก จนทำให้จิดใจและร่างกายของเราอยู่ในช่วงที่ดีที่สุดของชีวิต หลังจากนั้นฮอร์โมนเพศจะมีการเสื่อมถอยลงเรื่อยๆเมื่อเราเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน และแทบจะหมดเมื่อถึงวัยทองสำหรับผู้หญิง (Menopause) หรือวัยแพลททินัมสำหรับผู้ชาย (Andropause) ยังไม่นับรวมถึงผู้หญิงที่ตัดมดลูกและรังไข่ ที่ฮอร์โมนต้องลดลงก่อนเวลาอันสมควรอีกด้วย

beautiful-young-woman-having-headache-sitting-bed.jpg

ในปัจจุบัน อิทธิพลของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ผลิตปริมาณมากในระบบอุตสาหกรรม จึงทำให้มีการกระตุ้นโดยใช้ฮอร์โมนแปลกปลอม หรือ การใช้วัสดุเคมีที่มีเอสโตรเจนปนเปื้อน (Xenoestrogen) ที่มีผลทำให้เด็กผู้หญิงก้าวสู่วัยสาวก่อนสมควร การได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม การใชัชีวิตแบบอยู่กับที่ ขาดการออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลให้ฮอร์โมนเพศของเราถดถอยได้รวดเร็วขึ้น ในอดีตเราจะพบว่าผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยทองได้ตั้งแต่อายุ 46 ปีขึ้นไปจนถึง 50 ปี  แต่ในปัจจุบันเราพบว่าสามารถพบอาการการขาดฮอร์โมนเพศเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุ 30 กว่าปี เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อเป็นที่รู้กันดีว่า การเสื่อมของฮอร์โมนเพศทำให้แก่ เราจึงควรดูแลสุขภาพเพื่อไม่ให้เกิดภาวะวัยทองก่อนวัยอันสมควร

ภาวะวัยทองในปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอีกต่อไป ถ้าเราไม่ได้คิดหาทางดูแลป้องกัน  โรคที่เกิดจากวัยทอง มีทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันในเลือดสูง โรคสมองและความจำเสื่อม โรคกระดูกพรุน โรคซึมเศร้าและโรคมะเร็ง โรคที่กล่าวมาทั้งหมดก็อาจจะเกิดก่อนวัยอันสมควร และเมื่อเป็นไปแล้ว จะหาทางรักษาก็ยาก ต้องใช้ยาหลายชนิดไปจนตลอดชีวิต นี่ยังไม่รวมถึงอาการต่างๆที่สัมพันธ์กับอาการฮอร์โมนเพศเริ่มถดถอยที่เราไม่ทันสังเกต เช่น ภาวะน้ำหนักขึ้นง่าย เจ็บป่วยง่าย อ่อนเพลีย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิจดจ่อ เหนื่อยง่ายไม่มีสาเหตุ และโรคภูมิแพ้ อาการเหล่านี้เป็นไปได้ยากมากที่จะรู้ว่ามาจากการถดถอยของฮอร์โมนจริงๆ เนื่องจากอาการเหล่านี้เกิดในคนวัยทำงานที่ไม่คิดว่าตนเองจะเข้าสู่ภาวะวัยทองก่อนวัยได้ 

อาการก่อนเกิดวัยทองเกิดขึ้นได้เพราะการทำงานอย่างสอดประสานกันของฮอร์โมน (Hormone symphony) จากต่อมไทรอยด์ (Thyroid hormone) ต่อมหมวกไต (Adrenal hormone) และฮอร์โมนเพศ (sex hormone) ทำให้อาการที่เกิดขึ้นค่อนข้างซับซ้อนบอกไม่ได้ว่ามากจากระบบใด จากงานศึกษาและวิจัยพบว่าเมื่อมีการถดถอยของฮอร์โมนเพศ หรือเริ่มเข้าสู่วัยชราจะพบว่า ฮอร์โมนไทรอยด์จะมีค่าลดลงก่อนเป็นอันดับแรก โดยพบว่า ค่า Thyroid stimulating hormone (TSH) ที่หลั่งจากต่อมใต้สมองมีค่าสูงขึ้นจากปกติ เพราะเหตุที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ลดลง เราจึงอาจสังเกตเห็นคนน้ำหนักขึ้นง่ายลดยาก โดยเฉพาะเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น อันดับต่อมาคือต่อมหมวกไตจะทำงานลดลง โดยเห็นได้จากการที่จังหวะของการหลั่งฮอร์โมนคอติซอล (Cortisol diurnal rhythm) ผิดเพี้ยนไปอาการจะเป็นหวัดง่าย เป็นภูมิแพ้เกิดอาการอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะนอนไม่หลับ การที่ตอนวัยรุ่นเราเคยอดหลับอดนอน

เที่ยวหรือทำงานดึกๆได้ติดต่อกันหลายวัน โดยที่ตื่นมาก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่พออายุเริ่มมากขึ้นเราเริ่มทำแบบนั้นไม่ได้ นี่ก็มาจากการถดถอยของฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต สุดท้ายฮอร์โมนเพศ ซึ่งฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) กับโปรเจสเทอโรน (progesterone) ก็ลดลงอย่างไม่สมดุลกัน โดยโปรเจสเทอโรนจะลดลงก่อน ทำให้เกิดการเสียสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง (estrogen dominance) ทำให้เกิดปัญหาด้านอารมณ์ การมีซีสต์ที่รังไข่การที่ประจำเดือนเริ่มมาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น มามากเกินไปหรือน้อยเกินไป รอบประจำเดือนสั้นลงหรือมายาวนานขึ้น  การมีอาการไม่สบายก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual symptom)

ทางที่ดีเราควรเริ่มสังเกตอาการต่างๆ ให้ได้แต่เนิ่นๆ ปัจจุบันเราพบแบบสอบถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการถดถอยของฮอร์โมนได้ใน สื่อออนไลน์ทั่วไป ทั้งจากเว็บไซด์ที่น่าเชื่อถืออย่างเช่น องค์การอนามัยโลก หรือของโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อที่เราจะได้ประเมินตนเองว่าเราเริ่มมีการถดถอยของฮอร์โมนในระยะใดแล้ว และเป็นฮอร์โมนชนิดใด เราจะได้เริ่มดูแลตนเองและปรึกษาแพทย์ การตรวจสุขภาพร่างกายตามช่วงอายุก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยปกติบุคคลที่มีอายุมากกว่า 30-35 ปีขึ้นไปก็ควรจะตรวจร่างกายเพื่อประเมินการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด หัวใจ ตับ ไต และระบบเมตาบอริซึ่มในร่างกาย  นอกจากนี้ในสถาบันสุขภาพบางแห่งยังเพิ่มการตรวจระดับของฮอร์โมนต่างๆในร่างกายได้อีกด้วย ทำให้เราสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงถ้าตรวจสม่ำเสมอ การตรวจมวลกระดูกก็ควรเริ่มตั้งแต่อายุ 40-45 ปีขึ้นไปและเสริมแคลเซียมหรือวิตามินดีเมื่อถึงเวลาและเสริมเท่าที่จำเป็น  นอกจากนี้ยังสามารถดูการถดถอยของฮอร์โมนได้เสริมกับผลตรวจฮอร์โมนอื่นๆซึ่งการตรวจในปัจจุบันสามารถตรวจฮอร์โมนได้ทั้งในเลือด ในน้ำลาย และปัสสาวะ​

ซึ่งแต่และตัวก็มีความพิเศษแตกต่างกันไป ในการดูระดับทั้งฮอร์โมนเพศที่ร่างกายผลิตเอง ทั้งสังเคราะห์ และสารตกค้างฮอร์โมนที่จะไปกระตุ้นมะเร็ง การใช้ชีวิตให้เหมาะสมทั้งเรื่องอาหาร การขจัดสารพิษ การออกกำลังกายก็ล้วนมีส่วนสำคัญที่จะไม่ทำให้ฮอร์โมนของเราถดถอยก่อนวัยอันสมควร พบว่าผู้หญิงที่มีอาการท้องผูกมักพบว่ามีปัญหาการบกพร่องของฮอร์โมนเพศร่วมด้วย อาจพบว่ามีซีสต์ที่เต้านม รังไข่ หรือ เนื้องอกโพรงมดลูก  เนื่องจากไม่สามารถขจัดสารพิษที่เป็นไขมันออกจากร่างกายได้ เพราะสารตั้งต้นของฮอร์โมนเพศคือ คลอเรสเตอรอล (Cholesterol) ซึ่งร่างกายเราสามารถขจัดไขมันได้ 2 ทางคือ

การออกกำลังกายแล้วสลายไขมันในรูปของพลังงานและความร้อน และขจัดออกทางลำไส้ผ่านตับและถุงน้ำดี ดังนั้นถ้าผู้หญิงท้องผูก ก็เป็นเหตุให้มีการตกค้างของฮอร์โมนเพศมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่มีแบคทีเรียที่ไม่ดีอยู่ในลำไส้แล้วด้วย แบคทีเรียเหล่านี้จะทำให้เกิดการดูดซึมไขมันกลับไปสร้างเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดที่ไม่ดี (estrone) ได้มากขึ้นอีก ทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการดูแลตนเองจากภายในสู่ภายนอก เพื่อให้เราดูดี สดใส มีสมรรถภาพด้านต่างๆที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชียวชาญทางด้านฮอร์โมน หรือแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย ในโรงพยาบาลหรือศูนย์สุขภาพชั้นนำได้ เพื่อให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล (Personalized medicine)​

bottom of page